เว็บบล๊อกผลงาน (Web Blog) นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

Internet Address (IP Address)

คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องบนอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องมีหมายเลข IP (IP Address) ที่ไม่ซ้ำกับใคร เปรียบเสมือนบ้านเลขที่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หมายเลข IP มีขนาด 32 บิต (4 ไบต์, 8 บิต เป็น 1 ไบต์) โดยเขียนเป็นเลขฐานสิบ 4 ตัว คั่นโดยเครื่องหมายจุด (dotted-decimal notation)
ตัวอย่างเช่น 203.150.154.5 เป็นต้น (หนึ่งเลขฐานสิบแทนหนึ่งไบต์) หมายเลข IP ประกอบด้วย สองส่วนหลักคือ หมายเลข Net ID (network ID or address) และ หมายเลข Host ID (host ID or address) จากIP Address ที่เราได้รับแจกจ่ายมา ส่วน Net ID เราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราจะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะส่วน Host ID ซึ่งก็หมายความว่า ถ้า IP Address ที่เราได้รับมามีจำนวนบิตในส่วน Host ID มากเท่าใด ก็สามารถนำไปแจกจ่ายให้กับคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในหน่วยงานของเราได้มากเท่านั้น

หมายเลข IP Address ที่เราพบเห็นและใช้กันบ่อยๆ นั้น คือ Class A, B, C ซึ่งจะมีขนาดของ Net ID และHost ID แตกต่างกันดังรูปที่ 1.1 โดยแกน 0, 8, 16, 24, 32 นั้นมีหน่วยเป็นบิต


จากรูปที่ 1.1 เราอาจกล่าวได้ว่า

คำว่า Class A IP Address หมายความว่า IP Address ที่มีจำนวน Net ID 8 บิต และ Host ID 24 บิต, คำว่า Class B IP Address หมายความว่า IP Address ที่มีจำนวน Net ID 16 บิต และ Host ID 16 บิต และ คำว่า Class C IP Address หมายความว่า IP Address ที่มีจำนวน Net ID 24 บิต และ Host ID 8 บิต อย่างไรก็ดี เราอาจได้ยิน หรือได้อ่านในบางตำรากล่าวไว้ว่า หมายเลข IP มีทั้งหมด 5 แบบ หรือ class ดังต่อไปนี้

วิธีกำหนดว่า IP แต่ละ Class เป็นอย่างไรนั้น จากวิธีที่กล่าวมาสองแบบนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละตำรา แต่ความจริงแล้ว ความแตกต่างเกิดขึ้นเนื่องมาจากในยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มแรกนั้น การแจกจ่าย IP Address จะกระทำโดยแจกเป็น Class A, B หรือ C ขึ้นอยู่กับจำนวนความต้องการในการใช้งานขององค์กรที่ขอ โดยถ้าจะแจก Class A จะแจกโดยใช้ IP ที่อยู่ระหว่าง 0.0.0.0 ถึง 127.255.255.255 เช่น 16.0.0.0 ถ้าจะแจก Class B จะแจกโดยใช้ IP ที่อยู่ระหว่าง 128.0.0.0 ถึง 191.255.255.255 เช่น164.115.0.0 ตามตารางในรูปที่ 1.2

แต่ภายหลังมา เครือ – ข่ายอินเทอร์เน็ตได้เจริญเติบโตขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ IP Address ทั้งหมดที่มี (0.0.0.0 ถึง 255.255.255.255) เริ่มจะเหลือน้อย จึงมีการเข้มงวดในการแจกจ่ายมากขึ้น จะเห็นว่า IPใน class A และ class B นั้นมี host ได้ถึง 224 – 2 หรือ 16,777,214 เครื่อง และ 216 – 2 หรือ 65,534เครื่องเลยทีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะไม่ได้มี host มากขนาดนั้น (สาเหตุที่ลบด้วย 2 เพราะ hostID ไม่สามารถเป็นศูนย์หมดหรือหนึ่งหมด โปรดดูตัวอย่างในส่วนถัดไป)

การแจก IP Address แบบเป็น Class (A, B, C) นั้น ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป ในปัจจุบัน การจัดสรร IP Address มักจะใช้วิธีแจกแบบเป็น Classless IP Address ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป จะเห็นว่า จากเหตุผลที่กล่าวมา ทำให้หลักการของการแบ่ง IP Address นั้นมีความขัดกันเล็กน้อย ระหว่าง 2 วิธีการที่นำเสนอ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนั้น เรามักจะนิยมพูดถึง IP ในแบบ Classless คำว่า Class A, B, C จึงไม่มีความหมายสำคัญมากในต่อๆ ไป

องค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรหมายเลข IP เรียกว่า Internet Network Information Center หรือ InterNIC(http://www.internic.net/) และจะมีหน่วยงานย่อยซึ่งรับหน้าที่แจกจ่าย IP ในเขตภูมิภาค สำหรับในประเทศไทย ในปัจจุบัน การติดต่อขอ IP Address สามารถทำได้จาก APNIC (http://www.apnic.net) แต่โดยมากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยต่างๆ จะเป็นผู้ขอจาก APNIC องค์กรที่เป็นลูกค้า ก็สามารถขอจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องติดต่อกับ APNIC เอง

คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่มากกว่าหนึ่งเครือข่าย (เช่น มี LAN card มากกว่าหนึ่งใบ) จะมีหมายเลข IPเท่ากับจำนวนเครือข่ายที่มันเชื่อมต่ออยู่ อุปกรณ์เลือกเส้นทาง (Router) ขนาดใหญ่นั้น สามารถมี IPAddress ได้เป็นร้อย IP Address ทีเดียว

จะเห็นว่า จากรูปที่ 1.2 ยังมี IP อีก 2 Class ที่ยังไม่กล่าวถึง คือ Class D และ E หมายเลข IP นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ Unicast (สำหรับผู้รับเครื่องเดียว) Broadcast (สำหรับผู้รับทุกเครื่องบนเครือข่าย) และMulticast (สำหรับผู้รับบางเครื่องบนเครือข่าย)

ใน Class D จะใช้ในกรณีที่เป็น Multicast IP Address ส่วนClass E นั้นสงวนไว้ยังไม่ใช้ ดังนั้น IP ที่เราจะใช้ได้ในองค์กรทั่วๆ ไป ก็จะเป็นส่วนที่อยู่ใน Class A, B, C ตามตารางในรูปที่ 1.2 ยังมี IP บางส่วน ที่อยู่ในส่วนของ Class A, B, C นี้ แต่ไม่ได้มีการใช้งานจริงในโลก จะเรียกว่าเป็น Private IP Address สำหรับให้ใช้ภายในองค์กร (Intranet) (ห้ามเอามาใช้ภายนอก หรือส่วนที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต)

IP Address เหล่านี้คือ

  • 10.0.0.0 – 10.255.255.255

  • 172.0.0.0 – 172.16.255.255

  • 192.168.1.0 – 192.168.16.255

สรุปได้ว่า

  • IP Address จะแบ่งเป็นส่วน Net ID และส่วน Host ID

  • จาก IP Address ที่เราได้รับ ส่วน Host ID เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

  • การแบ่ง IP ออกเป็น Class สามารถทำได้โดยแบ่งตามจำนวน Net ID ที่มี

  • Class D ใช้ในงานด้าน Multicast

  • Class E สงวนไว้ ไม่มีการใช้
ขอขอบคุณ
Pattara @ Nectec
http://linux.thai.net/ott/books

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลังบทความของบล็อก

favourites